SAFETY SHOES CO., LTD. http://safetyshoes.siam2web.com/

         




เรื่อง “การส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานของลูกข้างในภาคอุตสาหกรรม
การบริการวิสาหกิจขนาดย่อม (SMEs)”

                    ในปัจจุบันอุตสาหกรรมขนาดต่าง ๆ ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการได้มีการพัฒนา  โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มศักยภาพทั้งในด้านการผลิตและการให้บริการ  ทำให้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างในสถานประกอบการ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคอุตสาหกรรมการบริการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างในสถานประกอบการมากขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่า สถิติการอุบัติเหตุจากการทำงานในอุตสาหกรรมการบริการที่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อม (SMEs) ยังคงมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุของลูกจ้างมากกว่าในสถานประกอบการขนาดใหญ่ ปัจจุบัน คามปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดเล็กที่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อม (SMEs) ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ นายจ้างยังขาดความเอาใจใส่ในการส่งเสริมและจัดการด้านความปลอดภัยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง คือ อายุของพนักงาน อายุงาน ทัศนคติเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตราย จิตสำนึกด้านความปลอดภัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน สภาพความพร้อมของเครื่องมือที่ใช้ปฏิบัติงาน จากการศึกษาในเรื่อง การส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมการบริการ วิสาหกิจขนาดย่อม (SMEs) ทำให้ทราบว่า พนักงานมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากอันตรายที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงานอย่างดี แต่ขณะเดียวกันพนักงานกลับละเลยการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอันตรายดังกล่าว โดยอาจจะมีสาเหตุสำคัญมาจากการปลูกฝังวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานที่คนรุ่นปู่ย่าตายายได้สั่งสอนกันมาว่า อุบัติเหตุนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และไม่สามารถควบคุมได้ จึงไม่ได้ให้ความสนใจที่จะป้องกัน เมื่อเกิดอุบัติเหตุมักโทษว่าเกิดจากเวรกรรมของตนที่ได้เคยทำมานั่นเอง

แนวทาง มาตรการในการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมการบริการ วิสาหกิจขนาดย่อม (SMEs) ที่ควรนำมาปรับใช้ มีดังนี้คือ

          1.  สถานประกอบการ ควรมุ่งเน้นการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างให้มากขึ้นกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยควรที่จะจัดกิจกรรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้ลูกจ้างได้มีส่วนร่วมเป็นการสร้างจิตสำนึกและแรงจูงใจเรื่องวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานให้แก่ลูกจ้าง อีกทั้งควรกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยและประกาศให้ลูกจ้างทราบและเข้าใจอย่างถ่องแท้ และควรทำงานปรับปรุงพื้นที่ปฏิบัติงานให้มีสภาพพื้นที่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องระบบระบายอากาศ

        2.  พนักงาน ควรให้ความสำคัญกับการทำงานด้วยความปลอดภัย โดยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานที่นายจ้างกำหนด ควรปฏิบัติตนตามกฎระเบียบ ข้อบังคับตามที่นายจ้างกำหนดทุกขั้นตอนสิ่งสำคัญคือ ควรปรับทัศนคติเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยที่ได้รับการปลูกฝังกันมาเป็นระยะเวลานาน และควรให้ความสำคัญกับการสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายในขณะปฏิบัติงานทุกครั้ง

           3.  รัฐบาล ควรบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง เพื่อให้การคุ้มครองลูกจ้างอย่างทั่วถึง และควรส่งเสริมให้มีการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน โดยบรรจุในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากส่วนมากผู้ที่จบการศึกษาในระดับนี้จะเลือกประกอบอาชีพมากกว่าศึกษาต่อ เพื่อเป็นการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้ลูกจ้างปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัยทำให้คุณภาพชีวิตของลูกจ้างดีขึ้นด้วยเช่นกัน


ขอบคุณบทความจาก  คุณสุกานดา   แสงทองล้วน นักศึกษาปริญญาโท
                                      โครงการพิเศษหลักสูตรพัฒนาแรงงานและสวัสดิการมหาบัณฑิต
                                      มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 34,265 Today: 3 PageView/Month: 3

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...